วันพฤหัสบดีที่ 26 กันยายน พ.ศ. 2556

มัทนะพาธา

  จอมเทพสุเทษณ์เป็นเทพผู้ใหญ่บนสรวงสวรรค์ เป็นทุกข์อยู่ด้วยความลุ่มหลงเทพธิดามัทนา แม้จิตระรถผู้สารถีคู่บารมีจะนำรูปของเทพเทวีผู้เลอโฉมหลายต่อหลายองค์มาถวายให้เลือกชม สุเทษณ์ก็มิสนใจไยดี จิตระรถจึงนำมายาวินวิทยาธรมาเฝ้า สุเทษณ์ให้มายาวินใช้เวทมนตร์เรียกนางมัทนามาหา เมื่อมาแล้วนางมัทนาก็เหม่อลอยมิมีสติสมบูรณ์เพราะตกอยู่ในฤทธิ์มนตรา สุเทษณ์มิต้องการได้นางด้วยวิธีเยี่ยงนั้น จึงให้มายาวินคลายมนตร์ แต่ครั้นได้สติแล้ว นางมัทนาก็ปฏิเสธว่ามิมีจิตเสน่หาตอบด้วยมิว่าสุเทษณ์จะเกี้ยวพาและรำพันรักอย่างไร สุเทษณ์โกรธนักจึงจะสาปมัทนาให้ไปเกิดในโลกมนุษย์


             มัทนาขอให้นางได้ไปเกิดเป็นดอกไม้มีกลิ่นหอมเพื่อให้มีประโยชน์บ้าง สุเทษณ์จึงสาปมัทนาให้ไปเกิดเป็นดอกกุหลาบที่งามทั้งกลิ่นทั้งรูป และมีแต่เฉพาะบนสวรรค์ยังไม่เคยมีบนโลกมนุษย์ โดยที่ในทุกๆ 1 เดือน นางมัทนาจะกลายร่างเป็นคนได้ชั่ว 1 วัน 1 คืน ในเฉพาะวันเพ็ญของแต่ละเดือนเท่านั้น และถ้านางมีความรักเมื่อใด นางก็จะมิต้องคืนรูปเป็นกุหลาบอีก แต่นางจะได้รับความทุกข์ทรมานเพราะความรักจนมิอาจทนอยู่ได้ และเมื่อนั้นถ้านางอ้อนวอนขอความช่วยเหลือ ตนจึงจะงดโทษทัณฑ์นี้ให้แก่นาง



             นางมัทนาไปจุติเป็นกุหลาบงามอยู่ในป่าหิมะวัน บรรดาศิษย์ของฤษีนามกาละทรรศินมาพบเข้าจึงนำความไปบอกพระอาจารย์ กาละทรรศินจึงให้ขุดไปปลูกในบริเวณอาศรมของตน ในขณะที่จะทำการขุดก็มีเสียงผู้หญิงร้อง กาละทรรศินเล็งญาณดูก็รู้ว่าเป็นเทพธิดามาจุติ จึงได้เอ่ยเชิญและสัญญาว่าจะคอยดูแลปกป้องสืบไป เมื่อนั้นการจึงสำเร็จด้วยดี   วันเพ็ญในเดือนหนึ่งท้าวชัยเสนกษัตริย์แห่งหัสตินาปุระได้เสด็จออกล่าสัตว์ในป่าหิมะวันและได้แวะมาพักที่อาศรมพระฤๅษี ครั้นได้เห็นนางมัทนาในโฉมของนารีผู้งดงามก็ถึงกับตะลึงและตกหลุมรัก จนถึงกับรับสั่งให้มหาดเล็กปลูกพลับพลาพักแรมไว้ใกล้อาศรมนั้นทันที



             ท้าวชัยเสนรำพันถึงความรักลึกซึ้งที่มีต่อนางมัทนา ครั้นเมื่อนางมัทนาออกมาที่ลานหน้าอาศรมก็มิเห็นผู้ใด ด้วยเพราะท้าวชัยเสนหลบไปแฝงอยู่หลังกอไม้ นางมัทนาได้พรรณาถึงความรักที่เกิดขึ้นในใจอย่างท่วมท้น ท้าวชัยเสนได้สดับฟังทุกถ้อยความจึงเผยตัวออกมาทั้งสองจึงกล่าวถึงความรู้สึกอันล้ำลึกในใจที่ตรงกันจนเข้าใจในรักที่มีต่อกัน จากค่ำคืนถึงยามรุ่งอรุณ ท้าวชัยเสนจึงทรงประกาศหมั้นและคำสัญญารัก ณ ริมฝั่งลำธารใกล้อาศรมนั้น  เมื่อมีความรักแล้ว นางมัทนาก็ยังคงรูปเป็นนารีผู้งดงาม มิต้องกลายรูปเป็นกุหลาบอีก ท้าวชัยเสนได้ทูลขอนางมัทนา พระฤษีก็ยกให้โดยให้จัดพิธีบูชาทวยเทพและพิธีวิวาหมงคลในป่านั้นเสียก่อน



             ท้าวชัยเสนเสด็จกลับวังหลายเพลาแล้วแต่ก็มิได้เสด็จไปยังพระตำหนักข้างในด้วยว่ายังทรงประทับอยู่แต่ในอุทยาน พระนางจัณฑี มเหสีให้นางกำนัลมาสืบดูจนรู้ว่าพระสวามีนำสาวชาวป่ามาด้วย จึงตามมาพบท้าวชัยเสนกำลังอยู่กับนางมัทนาพอดี เมื่อพระนางจัณฑีเจรจาค่อนขอดดูหมิ่นนางมัทนา ท้าวชัยเสนก็กริ้วและทรงดุด่าว่าเป็นมเหสีผู้ริษยา  พระนางจัณฑีแค้นใจนัก ให้คนไปทูลฟ้องพระบิดาผู้เป็นเจ้าแห่งมคธนครให้ยกทัพมาทำศึกกับท้าวชัยเสน จากนั้นก็คบคิดกับนางค่อมอราลีและวิทูรพราหมณ์หมอเสน่ห์ ทำอุบายกลั่นแกล้งนางมัทนาโดยส่งหนังสือไปทูลท้าวชัยเสนว่านางมัทนาป่วย ครั้นเมื่อท้าวชัยเสนรีบเสด็จกลับมาเยี่ยมนางมัทนา ก็กลับพบหมอพราหมณ์กำลังทำพิธีอยู่ใกล้ๆต้นกุหลาบ วิทูรกับนางเกศินีข้าหลวงของนางจัณฑีจึงทูลใส่ความว่านางมัทนาให้ทำเสน่ห์เพื่อให้ได้ร่วมชื่นชูสมสู่กับศุภางค์ ท้าวชัยเสนกริ้วนัก รับสั่งให้ศุภางค์ประหารนางมัทนา  



             แต่ศุภางค์ไม่ยอมท้าวชัยเสนจึงสั่งประหารทั้งคู่  พระนางจัณฑีได้ช่องรีบเข้ามาทูลว่าตนจะอาสาออกไปห้ามศึกพระบิดาซึ่งคงเข้าใจผิดว่านางกับท้าวชัยเสนนั้นบาดหมางกัน แต่ท้าวชัยเสนตรัสว่าทรงรู้ทันอุบายของนางที่คิดก่อศึกแล้วจะห้ามศึกเอง พระองค์จะขอออกทำศึกอีกคราแล้วตัดหัวกษัตริย์มคธพ่อตาเอามาให้นางผู้ขบถต่อสวามีตนเอง  ขณะตั้งค่ายรบอยู่ที่นอกเมือง วิทูรพรหมณ์เฒ่าได้มาขอเข้าเฝ้าท้าวชัยเสนเพื่อสารภาพความทั้งปวงว่าพระนางจัณฑีเป็นผู้วางแผนการร้าย ซึ่งในที่สุดแล้วตนสำนึกผิดและละอายต่อบาปที่เป้นเหตุให้คนบริสุทธิ์ต้องได้รับโทษประหาร ท้าวชัยเสนทราบความจริงแล้วคั่งแค้นจนดำริจะแทงตนเองให้ตาย แต่อำมาตย์นันทิวรรธนะเข้าห้ามไว้ทันและสารภาพว่าในคืนเกิดเหตุนั้นตนละเมิดคำสั่ง มิได้ประหารศุภางค์และนางมัทนา หากแต่ได้ปล่อยเข้าป่าไป ซึ่งนางมัทนานั้นได้โสมะทัตศิษญ์เอกของฤษีกาละทรรศินนำพากลับสู่อาศรมเดิม แต่ศุภางค์นั้นแฝงกลับเข้าไปร่วมกับกองทัพแล้วออกต่อสู้กับข้าศึกจนตัวตาย 



             ท้าวชัยเสนจึงรับสั่งให้ประหารท้าวมคธที่ถูกจับมาเป็นเชลยไว้ก่อนหน้านั้นแล้ว ส่วนพระนางจัณฑีมเหสีนั้นทรงให้เนรเทศออกนอกพระนคร ด้วยทรงเห็นว่าอันนารีผู้มีใจมุ่งร้ายต่อผู้เป็นสามีก็คงต้องแพ้ภัยตนเอง มิอาจอยู่เป็นสุขได้นานแน่  ฝ่ายนางมัทนานั้นได้ทำพิธีบูชาเทพและวอนขอร้องให้สุเทษณ์จอมเทพช่วยนางด้วย สุเทษณ์นั้นก็ยินดีจะแก้คำสาปและรับนางเป็นมเหสี แต่นางมัทนาก็ยังคงปฏิเสธและว่าอันนารีจะมีสองสามีได้อย่างไร สุเทษณ์เห็นว่านางมัทนายังคงปฏิเสธความรักของตนจึงกริ้วนักสาปส่งให้นางมัทนาเป็นดอกกุหลาบไปตลอดกาล มิอาจกลายร่างเป็นมนุษย์ได้อีกต่อไป



             เมื่อท้าวชัยเสนตามมาถึงในป่า นางปริยัมวะทาที่ตามมาปรนนิบัติดูแลนางมัทนาด้วยก็ทูลเล่าความทั้งสิ้นให้ทรงทราบ ท้าวชัยเสนจึงร้องร่ำให้ด้วยความอาลัยรักแล้วขอให้พระฤษีช่วย โดยใช้มนตราและกล่าวเชิญนางมัทนาให้ยินยอมกลับเข้าไปยังเวียงวังกับตนอีกครา  เมื่อพระฤาษีทำพิธีแล้ว ท้าวชัยเสนก็รำพันถึงความหลงผิดและความรักที่มีต่อนางมัทนาให้ต้นกุหลาบได้รับรู้ จากนั้นจึงสามารถขุดต้นกุหลาบได้สำเร็จ ท้าวชัยเสนได้นำต้นกุหลาบขึ้นวอทองเพื่อนำกลับไปปลูกในอุทยาน และขอให้ฤๅษีกาละทรรศินให้พรวิเศษว่ากุหลาบจะยังคงงดงามมิโรยราตราบจนกว่าตัวพระองค์เองจะสิ้นอายุขัย พระฤษีก็อวยพรให้ดังใจ และประสิทธิประสาทพรให้กุหลาบนั้นดำรงอยู่คู่โลกนี้มิมีสูญพันธ์ อีกทั้งยังเป็นไม้ดอกที่กลิ่นอันหอมหวานสามารถช่วยดับทุกข์ในใจคนและดลบันดาลให้จิตใจเบิกบานเป็นสุขได้ ชาย-หญิงเมื่อมีรักก็จักใช้ดอกกุหลาบเป็นสัญลักษณ์แห่งความรักแท้สืบต่อไป




ลิลิตพระลอ



ลิลิตพระลอเป็นเรื่องรักโศก บรรยายถึงความรักระหว่างพระเอก คือ พระลอ และนางเอกสองคน คือ พระเพื่อน และพระแพง นอกจากนี้ยังกล่าวถึงความรักของหญิงชายอีกสองคู่ คือ นางรื่น นางโรย และนายแก้ว นายขวัญ พี่เลี้ยงของพระเพื่อนพระแพง และพระลอ ตามลำดับ  เนื่องจากเมืองเหนือสองเมืองเป็นศัตรูคู่อริไม่ถูกกัน กษัตริย์เมืองแม้นสรวงพระองค์หนึ่งทรงพระนามว่า พระลอดิลกราช พระองค์ทรงเป็นกษัตริย์ที่มีพระสิริวรกายงดงามหล่อเหลายิ่ง จนเป็นที่ปรากฏของหญิงทั้งหลาย และยังมีเมืองอีกเมืองหนึ่งชื่อว่า เมืองสรอง เมืองนี้ปกครองโดยกษัตริย์พิชัยพิษณุกร


            กษัตริย์พิชัยพิษณุกรทีพระราชธิดาอยู่ 2 พระองค์ พระองค์พี่ พระนมาว่า พระเพื่อนแก้ว พระองค์น้องพระนามว่า พระแพงทอง พระราชธิดาทั้งสองสาบานกับเจ้าย่าว่าจะแก้แค้นให้เมืองสรองและถ้าผิดคำสาบาน จะต้องตายด้วยคมของอาวุธ เพราะปู่ของธิดาทั้งสองพ่ายแพ้ศึกเสียทีสวรรคต เจ้าย่าจึงส่งคนไปสีซอให้พระลอฟัง เป็นการพรรณนาความงามของพระเพื่อนกับพระแพง และใช้กฤติยามนต์(หลอกให้กินสล่าบินหรือหมาก)เพื่อให้พระลอมาที่นี่แล้วให้ ทัพเมืองพะเยาไปตีเมืองแม้นสรวงและลอบปลงพระชนม์พระลอ เมื่อเพื่อนแก้วและแพงทองรู้เรื่องนี้เข้าจึงให้รื่นและโรยช่วยแก้มนต์ให้ รื่นและโรยจึงไปหาประคำมาไว้ใต้ที่นอนของเพื่อนแก้วกับแพงทอง แต่ไม่ได้ผลรื่นและโรยจึงตัดสินใจไปหา
          ปู่เจ้าสมิงพรายก่อนวันฉลองวันครอง ราชย์ของกษัตริย์พิชัยพิษณุกร แต่สายไปปู่เจ้าสมิงพรายมาเข้าทรงเจ้าย่าแล้วจึงหมดทางแก้ไขกฤตยามนต์โดย สิ้นเชิง หลังจากวันนั้นทั้งสองจึงไปขอให้ปู่เจ้าสมิงพรายดลให้พระลอมาถึงโดยเร็วกว่า เดิมเพื่อทูลเตือนให้กลับไปเสีย ปู่เจ้าสมิงพรายก็ให้ความช่วยเหลือ จนพระลอต้องเสด็จมาเมืองสรองในวันพรุ่งนี้

         พระลอต้องมนตร์เสน่ห์ของเจ้าย่าและมนต์ของเจ้าสมิงพราย เข้าก็ทรงเกิดความอยากทอดพระเนตรดูพระเพื่อนกับพระแพงขึ้นมาทันที จึงอำลาพระนางบุญเหลือพระราชมารดา และพระนางลักษณวดีพระมเหสี เสด็จไปยังเมืองสรองพร้อมด้วยนายแก้วนายขวัญสองพระพี่เลี้ยง


            เมื่อเสด็จถึงแม่น้ำกาหลง พระลอก็ทรงเสี่ยงน้ำ ปรากฏเป็นลางร้ายไม่ต้องำพระทัยเลย แต่ก็ต้องเสด็จต่อไป เพราะต้องมนตร์เสน่ห์ของเจ้าย่าและเจ้าปู่สมิงพรายเข้าแล้ว ปรากฏมีไก่แก้วของเจ้าปู่สมิงพรายคอยวิ่งล่อพระลอ กับพระพี่เลี้ยงให้ต้องไปจนถึงเมืองสรองจนได้ เมื่อไปถึงสวนหลวง นางรื่นกับนางโรยออกมาที่สวนหลวงก็ทราบข่าวว่าพระลอเสด็จมาถึงแล้ว จึงออกอุบายที่สำคัญคือ ให้พระเพื่อนและพระแพงเสด็จออกไปพบพระลอเพื่อเตือนภัย แต่พระลอเห็นความงามของนางทั้งสองจึงไม่ยอมกลับไปแต่สุดท้ายพระลองก็ ต้องกลับไปพร้อมให้สัญญาว่าจะกลับมาหาอีก วันหนึ่งรื่นและโรยเข้ามาในตำหนักและบอกว่ามีพระลอมาขอเข้าเฝ้า นางเห็นว่าถ้าพระลอออกไปก็อันตรายจึงพาพระลอเข้าไปอยู่ในตำหนักพระเพื่อน พระแพง ส่วนนายแก้วให้อยู่กับนางรื่น นายขวัญให้อยู่กับนางโรย ทุกอย่างลงตัวหมด
            เวลาล่วงเลยไปถึงครึ่งเดือน กษัตริย์พิชัยพิษณุกรจึงทรงทราบเมื่อเสด็จมาพระตำหนักพระราชธิดา ทรงเห็นพระลอแล้วก็สงสาร ทรงเมตตารับสั่งให้จัดพิธีอภิเษกสมรสให้ แต่พระเจ้าย่าของพระเพื่อนพระแพง ไม่ทรงชอบพระลอจึงทรงขัดขวางทุกวิถีทาง ทรงอ้างรับสั่งของกษัตริย์พิชัยพิษณุกรว่าให้ทรงสั่งจับพระลอ ทหารจึงพากันจับพระลอไว้ ฝ่ายพระเพื่อนพระแพง และพระพี่เลี้ยงของทั้งสองฝ่ายรวม 4 คนก็ได้ช่วยขัดขวางจนถึงที่สุด จนสิ้นพระชนม์และสิ้นชีวิตกันทั้งหมด 
            ก่อนจะสิ้นพระชนม์แพงทองได้เขียนบันทึกเล่มหนึ่งจนเสร็จแล้วม้วนใส่ซองหนัง ไว้ในที่ลับตาคนก่อนที่จะสิ้นพระชนม์ไป เนื้อหามีอยู่ว่า "หลังจากที่ข้าฯ ตายไป จะเป็นสิบปี.....ร้อยปีหรือพันปี.... ก็ตาม คนที่อยู่เบื้องหลังอาจรำลึกถึงเรื่องราวระหว่างข้าฯ สองพี่น้องกับท้าวเธอดุจนิยายฝันอันเลือนลาง จากปากหนึ่ง...ไปสู่อีปากหนึ่ง...ท้ายสุดเรื่องราวของข้าฯ ก็จะมีค่าเป็นเพียงนิยายที่ไร้ความหมายเพียงเพื่อเล่าสู่กันฟังอย่างสนุก สนาน... แต่..คงจะมีสักวันหนึ่งคงจะมีคนมาพบบันทึกเล่มนี้เขาจะได้รู้ความจริงระหว่าง เพื่อนแก้ว ข้าฯ และท้าวเธอ ผู้ทรงนามว่าลอดิลกราช ก่อนจะมีผู้พบบันทึกชื่อเสียงของข้าฯ อาจหมองมัว ข้าฯ อาจจะถูกประณามไม่ให้เอาเยี่ยงอย่างในฐานะหญิงโฉดเจ้ามารยาที่เอาชนะใจชาย ด้วยมนตรา! ข้าจะไม่แก้ตัวด้วยประการใดทั้งสิ้น แต่ขอวอนท่านให้อ่านบันทึกนี้จนจบ คราวนี้ท่านอาจจะให้อภัยข้าฯ ได้สักน้อยนิดก็ยังดี....บางครา....ท่านอาจเห็นใจข้าฯได้บ้างว่า ความรักของข้าฯ สองพี่น้องต่างหากที่เป็นความรักที่ต้องมนตรามิใช่ท้าวเธอแต่เพียงผู้เดียว" หลังจากข้อความนี้ก็ได้เล่าความเป็นมาทั้งหมด
            กษัตริย์พิชัยพิษณุกร เมื่อทรงทราบเรื่องราวก็ทรงให้มีรับสั่งให้จับพระเจ้าย่าและพรรคพวกประหารชีวิตเสียให้ตายตกไปตามกัน เพราะทรงพระพิโรธยิ่งนัก  จากนั้นกษัตริย์พิชัยพษณุกรได้โปรดให้จัดพิธีพระศพอย่างยิ่งใหญ่ นางบุญเหลือพระราชมารดาของพระลอส่งฑูตมาร่วมงานพระศพกษัตริย์(คือพระลอ พระเพื่อนแก้ว และพระแพงทอง) แล้วทรงขอแบ่งพระอัฐิธาตุไปส่วนหนึ่งตั้งแต่นั้นมา เมืองสรองและเมืองแม้นสรวงก็มีสัมพันธไมตรีที่ดีต่อกัน



ขุนช้างขุนแผน

           

              เรื่องขุนช้างขุนแผน มีผู้สันนิษฐานว่าเป็นเรื่องจริงที่เกิดขึ้นในแผ่นดินสมเด็จพระรามาธิบดีที่ ๒ และเล่ากันต่อ ๆมาจนกลายเป็นนิยายพื้นเมืองของเมืองสุพรรณบุรี ต่อมาได้มีผู้นำเรื่องขุนช้างขุนแผนมาแต่งเป็นกลอนเสภาเพื่อใช้ในการขับเสภา จึงทำให้เรื่องนี้เป็นที่นิยมและแพร่หลายมากขึ้น ครั้นเสียกรุงแล้วบางตอนก็สูญหายไป บางตอนยังมีต้นฉบับเหลืออยู่ เรื่องไม่ติดต่อกัน พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัยโปรดเกล้าฯ ให้กวีหลายคนช่วยกันรวบรวมและแต่งขึ้นเรียกว่า เสภาหลวง            การชุมนุมกวีครั้งนั้นจึงเป็นการประกวดฝีปากเชิงกลอนอย่างเต็มที่ ทำให้เสภาเรื่องขุนช้างขุนแผน มีความไพเราะเพราะพริ้งมากอย่างไรก็ตามได้มีนักขับเสภาระยะหลังได้แต่งเสภาเรื่องขุนช้างขุนแผน ขึ้นอีกหลายสำนวนเพื่อใช้ขับเสภาเป็นตอน ๆ ใน พ.ศ. ๒๔๖๐ หอพระสมุดวชิรญาณได้ชำระหนังสือเสภาเรื่องขุนช้างขุนแผนขึ้นเพราะมีเสภาเรื่องขุนช้างขุนแผนหลายฉบับ ทั้งฉบับหลวงและฉบับราษฎรโดยมีสมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพและกรมหมื่นกวีพจน์สุปรีชา ทรงเป็นประธานการชำระได้คัดเลือกเอาสำนวนที่ดีที่สุดมารวมกันจนครบทุกตอน บางตอนก็ไม่สามารถทราบนาม
              หนังสือเรื่องขุนช้างขุนแผนนี้ พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัยได้โปรดเกล้าฯ ให้กวีในรัชสมัยของพระองค์ ตลอดจนพระองค์เองร่วมกันแต่งและทรงพระราชนิพนธ์ขี้นเป็นวรรณคดีที่มีค่าทั้งในด้านความไพเราะและในลีลาการแต่ง ตลอดจนเค้าโครงเรื่อง ได้รับการยกย่องตามพระราชบัญญัติวรรณคดีสโมสรในรัชกาลพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวว่าเป็นยอดของหนังสือประเภทกลอนเสภา และได้รับประทับราชลัญจกรรูปพระคเณศร์ไว้เป็นเครื่องหมายของการยกย่องนั้นด้วย หนังสือเรื่องขุนช้างขุนแผนนี้ ไม่เพียงแต่เป็นวรรณคดีสำหรับอ่านกันเล่น เพื่อได้รับรสวรรณคดีเป็นเครื่องบันเทิงใจเท่านั้น หากแต่บางตอนในวรรณคดีเรื่องนี้ยังเป็นหลักฐานที่ให้ความรู้ในเรื่องราวความเป็นอยู่ของผู้คนและบ้านเมืองในสมัยต้นรัตนโกสินทร์ สมกับที่มีคำกล่าวว่า วรรณคดีเป็นกระจกเงาสะท้อนภาพความเป็นไปของบ้านเมืองในยุคนั้นๆ ให้คนรุ่นหลังๆ ได้ทราบด้วย



เรื่องย่อ ขุนช้างขุนแผน

             กล่าวถึงครอบครัวสามครอบครัว คือ ครอบครัวของขุนไกรพลพ่ายรับราชการทหาร มีภรรยาชื่อ นางทองประศรี มีลูกชายด้วยกันชื่อ พลายแก้ว ครอบครัวของขุนศรีวิชัย เศรษฐีใหญ่ของเมืองสุพรรณบุรี รับราชการเป็นนายกองกรมช้างนอก ภรรยาชื่อ นางเทพทอง มีลูกชายชื่อ ขุนช้าง ซึ่งหัวล้านมาแต่กำเนิด และครอบครัวของพันศรโยธา เป็นพ่อค้า ภรรยาชื่อ ศรีประจัน มีลูกสาวรูปร่างหน้าตางดงามชื่อ นางพิมพิลาไลย
            วันหนึ่งสมเด็จพระพันวษา มีความประสงค์จะล่าควายป่า จึงสั่งให้ขุนไกรปลูกพลับพลาและต้อนควายเตรียมไว้ แต่ควายป่าเหล่านั้นแตกตื่นไม่ยอมเข้าคอก ขุนไกรจึงใช้หอกแทงควายตายไปมากมาย ที่รอดชีวิตก็หนีเข้าป่าไป สมเด็จพระพันวษาโกรธมากสั่งให้ประหารชีวิตขุนไกรเสีย นางทองประศรีรู้ข่าวรีบพาพลายแก้วหนีไปอยู่ที่เมืองกาญจนบุรี  ทางเมืองสุพรรณบุรีมีพวกโจรจันศรขึ้นปล้นบ้านของขุนศรีวิชัยและฆ่าขุนศรีวิชัยตาย ส่วนพันศรโยธาเดินทางไปค้าขายต่างเมือง พอกลับมาถึงบ้านก็เป็นไข้ป่าตาย
            เมื่อพลายแก้วอายุได้ ๑๕ ปี ก็บวชเณรเรียนวิชาอยู่ที่วัดส้มใหญ่ แล้วย้ายไปเรียนต่อที่วัดป่าเลไลย ต่อมาที่วัดป่าเลไลยจัดให้มีเทศน์มหาชาติ เณรพลายแก้วเทศน์กัณฑ์มัทรี ซึ่งนางพิมพิลาไลยเป็นเจ้าของกัณฑ์เทศน์ นางพิมเลื่อมใสมากจนเปลื้องผ้าสไบบูชากัณฑ์เทศ์ ขุนช้างเห็นเช่นนั้นก็เปลื้องผ้าห่มของตนวางเคียงกับผ้าสไบของนางพิม อธิฐานขอให้ได้นางเป็นภรรยา ทำให้นางพิมโกรธ ต่อมาเณรพลายแก้วก็สึกแล้วให้นางทองประศรีมาสู่ขอนางพิมและแต่งงานกัน



             ทางกรุงศรีอยุธยาได้ข่าวว่ากองทัพเชียงใหม่ตีได้เมืองเชียงทอง ซึ่งเป็นเมืองขึ้นของกรุงศรีอยุธยา สมเด็จพระพันวษาถามหาเชื้อสายของขุนไกร ขุนช้างซึ่งเข้าไปรับราชการอยู่จึงเล่าเรื่องราวความเก่งกล้าสามาราถของพลายแก้ว เพื่อหวังจะพรากพลายแก้วไปให้ห่างไกลนางพิม สมเด็จพระพันวษาจึงให้ไปตามตัวมาแล้วแต่งตั้งให้เป็นแม่ทัพไปรบกับเมืองเชียงใหม่และได้ชัยชนะ นายบ้านแสนคำแมนแห่งหมู่บ้านจอมทอง เห็นว่าพลายแก้วกับพวกทหารไม่ได้เบียดเบียนให้ชาวบ้านเดือดร้อนจึงยกนางลาวทองลูกสาวของตนให้เป็นภรรยาของพลายแก้ว
            ส่วนนางพิมพิลาไลย เมื่อสามีจากไปทัพได้ไม่นานก็ป่วยหนักรักษาเท่าไรก็ไม่หาย ขรัวตาจูวัดป่าเลไลยแนะนำให้เปลี่ยนชื่อเป็นวันทอง อาการไข้จึงหาย ขุนช้างทำอุบายนำหม้อใหม่ใส่กระดูกไปให้นางศรีประจันกับนางวันทองดูว่าพลายแก้วตายแล้วและขู่ว่านางวันทองจะต้องถูกคุมตัวไว้เป็นม่ายหลวงตามกฎหมาย นางวันทองไม่เชื่อ แต่นางศรีประจันคิดว่าจริง ประกอบกับเห็นว่าขุนช้างเป็นเศรษฐีจึงบังคับให้นางวันทองแต่งงานกับขุนช้าง นางวันทองจำต้องตามใจแม่แต่นางไม่ยอมเข้าหอ ขณะนั้นพลายแก้วกลับมาถึงกรุงศรีอยุธยาและได้บรรดาศักดิ์เป็นแผนแสนสะท้าน จากนั้นก็พานางลาวทองกลับสุพรรณบุรีนางวันทองเห็นขุนแผนพาภรรยาใหม่มาด้วยก็โกรธด่าทอโต้ตอบกับนางลาวทองและลืมตัวพูดก้าวร้าวขุนแผน ทำให้ขุนแผนโมโหพานางลาวทองไปอยู่ที่กาญจนบุรี  ส่วนนางวันทองก็ตกเป็นภรรยาของขุนช้างอย่างจำใจ
  
             ต่อมาขุนช้างและขุนแผนเข้าไปรับราชการอบรมในวังและได้มหาดเล็กเวรทั้งสองคน วันหนึ่งนางทองประศรีให้คนมาส่งข่าวว่า นางลาวทองป่วยหนัก ขุนแผนจึงฝากเวรไว้กับขุนช้างแล้วไปดูอาการของนางลาวทอง ตอนเช้าสมเด็จพระพันวษาถามถึงขุนแผน ขุนช้างบอกว่าขุนแผนปีนกำแพงวังหนีไปหาภรรยา สมเด็จพระพันวษาโกรธจึงสั่งให้นำตัวนางลาวทองมากักไว้ในวัง ส่วนขุนแผนให้ไปตระเวนด่านห้ามเข้าวังอีกทำให้ขุนแผนแค้นขุนช้างมากคิดช่วงชิงนางวันทองกลับคืนมา จึงออกหาของวิเศษ ๓ อย่าง คือ ดาบวิเศษ กุมารทอง และม้าฝีเท้าดี ขุนแผนเดินทางไปถึงซ่องโจรของหมื่นหาญก็สมัครเข้าเป็นสมุน วันหนึ่งได้ช่วยชีวิตหมื่นหาญให้รอดพ้นจากการถูกวัวแดงขวิดตาย หมื่นหาญจึงยกนางบัวคลี่ลูกสาวของตนให้เป็นภรรยาของขุนแผน
             ต่อมาหมื่นหาญเห็นขุนแผนมีวิชาอาคมเหนือกว่าตนก็คิดกำจัด โดยสั่งให้นางบัวคลี่วางยาพิษฆ่าขุนแผน แต่โหงพรายมาบอกให้ขุนแผนรู้ตัว คืนนั้นพอนางบัวคลี่นอนหลับ ขุนแผนก็ผ่าท้องนางควักเอาเด็กไปทำพิธีปลุกเสกเป็นกุมารทอง ต่อจากนั้นก็ทำพิธีตีดาบฟ้าฟื้นและไปซื้อม้าลักษณะดีได้ตัวหนึ่ง ชื่อ ม้าสีหมอก แล้วขุนแผนก็ไปที่บ้านของขุนช้างสะกดคนให้หลับหมดแล้วขึ้นไปบนบ้านแต่เข้าห้องผิด จึงพบนางแก้วกิริยาและได้นางเป็นภรรยา จากนั้นก็ไปปลุกนางวันทองพาขึ้นม้าหนีเข้าป่าไป ขุนช้างไปฟ้องสมเด็จพระพันวษา พระองค์ให้ทหารตามจับขุนแผน แต่ถูกขุนแผนฆ่าตายไปหลายคน ขุนแผนกับนางวันทองหลบซ่อนอยู่ในป่าจนนางตั้งท้องจึงพากันออกมามอบตัวสู้คดีกับขุนช้างจนชนะคดี ขุนแผนนางวันทอง และนางแก้วกิริยาจึงอยู่ร่วมกันด้วยความสุข แต่ขุนแผนนึกถึงนางลาวทองจึงขอร้องจมื่นศรีเสาวรักษ์ให้ขอตัวนางจากสมเด็จพระพันวษาทำให้พระองค์โกรธว่าขุนแผนกำเริบจึงสั่งจำคุกขุนแผนไว้ นางแก้วกิริยาตามไปปรนนิบัติขุนแผนด้วย ส่วนนางวันทองพักอยู่ที่บ้านของหมื่นศรี ขุนช้างจึงพาพรรคพวกมาฉุดนางวันทองไปเป็นภรรยาอีก 
             ต่อมานางวันทองก็คลอดลูกชาย แล้วตั้งชื่อให้ว่าพลายงาม ขุนช้างรู้ว่าไม่ใช่ลูกของตนก็เกลียดชัง วันหนึ่งจึงหลอกพาเข้าไปในป่าทุบตีจนสลบแล้วเอาท่อนไม้ทับไว้ โหงพรายของขุนแผนมาช่วยได้ทัน นางวันทองจึงให้ลูกไปอยู่กับนางทองประศรีที่กาญจนบุรีพลายงามได้ร่ำเรียนวิชาของพ่อเชี่ยวชาญ ขุนแผนจึงพาไปฝากไว้กับหมื่นศรี เพื่อหาโอกาสให้เข้ารับราชการ
             ทางฝ่ายพระเจ้าเชียงอินทร์ เจ้าเมืองเชียงใหม่ ให้ทหารไปชิงตัวนางสร้อยทองธิดาพระเจ้าล้านช้างระหว่างที่เดินทางไปยังกรุงศรีอยุธยา เพราะพระเจ้าล้านช้างต้องการเป็นไมตรีด้วยจึงส่งธิดามาถวายตัวแล้วพระเจ้าเชียงอินทร์ยังส่งหนังสือท้าทายสมเด็จพระพันวษาอีกด้วย พลายงามได้โอกาสจึงอาสาออกไปรบ และขอให้ปล่อยขุนแผนออกจากคุกด้วย เพื่อจะได้ช่วยกันทำศึก ขุนแผนจึงพ้นโทษ ในขณะที่กำลังเตรียมทัพนางแก้วกิริยาก็คลอดลูกเป็นชาย ขุนแผนตั้งชื่อว่า พลายชุมพล แล้วขุนแผนกับพลายงามก็คุมทัพมุ่งสู่เชียงใหม่ ขุนแผนได้แวะเยี่ยมพระพิจิตรกับนางบุษบาซึ่งเคยให้ความช่วยเหลือ เมื่อครั้งขุนแผนกับนางวันทองเข้ามอบตัว พลายงามจึงได้พบนางศรีมาลาและได้นางเป็นภรรยา จากนั้นก็คุมทัพไปรบกับเชียงใหม่ได้ชัยชนะ ครั้นกลับถึงกรุงศรีอยุธยา ขุนแผนได้เป็นพระสุรินฤาไชย เจ้าเมืองกาญจนบุรี พลายงามได้เป็นจมื่นไวยวรนาถ และสมเด็จพระพันวษาก็ยกนางสร้อยฟ้าธิดาของพระเจ้าเชียงอินทร์ให้แต่งงานกับพระไวยพร้อม ๆ กับนางศรีมาลา
             พระไวยอยากให้แม่มาอยู่กับตนและคืนดีกับพ่อ จึงไปลักพานางวันทองมาขุนช้างเคืองมากไปฟ้องสมเด็จพระพันวษา จึงมีการไต่สวนคดีกันอีกครั้งหนึ่ง ในที่สุดสมเด็จพระพันวษาก็ถามความสมัครใจของนางว่าจะเลือกอยู่กับใคร นางตัดสินใจไม่ได้ สมเด็จพระพันวษาหาว่านางเป็นหญิงสองใจจึงสั่งให้นำตัวไปประหารชีวิต พระไวยพยายามอ้อนวอนขออภัยโทษได้ แต่ไปห้ามการประหารไม่ทัน
             ในครอบครัวของพระไวยก็ไม่ราบรื่นนัก เพราะนางสร้อยฟ้าไม่พอใจที่พระไวยและนางทองประศรีรักนางศรีมาลามากกว่านาง จึงมักจะมีการทะเลาะวิวาทกันอยู่เสมอ นางสร้อยฟ้าเจ็บใจจึงให้เถรขวาดทำเสน่ห์ให้พระไวยหลงรักนาง แล้วนางสร้อยฟ้าก็หาเรื่องใส่ความให้พระไวยตีนางมาลา พลายชุมพลเข้าไปห้ามก็ถูกตีไปด้วย พลายชุมพลน้อยใจจึงหนีออกจากบ้านไปหาพ่อแม่ที่กาญจนบุรีเล่าเรื่องให้ฟัง แล้วหนีต่อไปหายายที่สุโขทัย ได้บวชเณรและเล่าเรียนอยู่ที่นั้น  ฝ่ายขุนแผนรีบไปที่บ้านของพระไวย แล้วเสกกระจกมนต์ให้ดูว่าถูกทำเสน่ห์ แต่พระไวยไม่เชื่อหาว่าพ่อเล่นกลให้ดู และพูดลำเลิกบุญคุณที่ช่วยพ่อออกมาจากคุกขุนแผนแค้นมากประกาศตัดพ่อตัดลูก แล้วกลับกาญจนบุรีทันที
            พลายชุมพลเรียนวิชาสำเร็จแล้วก็นัดหมายกับขุนแผนจะแก้แค้นพระไวย โดยพลายชุมพลสึกจากเณรปลอมเป็นมอญ ใช้ชื่อ สมิงมัตรา ยกกองทัพหุ่นหญ้าเสกมาถึงสุพรรณบุรี สมเด็จพระพันวษา ให้ขุนแผนยกทัพไปต้านศึก ขุนแผนแกล้งแพ้ให้ถูกจับได้พระไวยจึงต้องยกทัพไปและต่อสู้กับพลายชุมพล ระหว่างที่กำลังต่อสู้กัน ขุนแผนบอกให้พลายชุมพลจับตัวพระไวยไว้ พระไวยเห็นพ่อก็ตกใจหนีกลับไปฟ้องสมเด็จพระพันวษาพระองศ์จึงให้นางศรีมาลาไปรับตัวขุนแผนกับพลายชุมพลเข้าวัง พลายชุมพลอาสาจับเสน่ห์ โดยขอหมื่นศรีไปเป็นพยานด้วย พลายชุมพลจับตัวเถรขวาดกับเณรจิ๋วไว้ แล้วขุดรูปปั้นลงอาคมที่ฝังไว้ใต้ดินขึ้นมาได้  เสน่ห์จึงคลายตกดึกเถรขวาดกับเณรจิ๋วสะเดาะโซ่ตรวนหนีไป ในการไต่สวนคดีนางสร้อยฟ้า ไม่ยอมรับว่าเป็นคนทำเสน่ห์ และใส่ร้ายว่านางศรีมาลาเป็นชู้กับพลายชุมพล พอนางถูกจับได้พลายชุมพลก็หนีไปยุยงขุนแผน ในที่สุดก็มีการพิสูจน์ความบริสุทธิ์โดยการลุยไฟนางสร้อยฟ้าแพ้ถูกไฟลวกจนพุพอง ส่วนนางศรีมาลาไม่เป็นอะไรเลย สมเด็จพระพันวษาสั่งประหารนางสร้อยฟ้า แต่นางศรีมาลาช่วยขออภัยโทษให้ จึงเพียงถูกเนรเทศกลับไปอยู่ที่เชียงใหม่เช่นเดิม ระหว่างเดินทางก็พบเถรขวาดกับเณรจิ๋ว จึงเดินทางไปด้วยกัน กลับถึงเชียงใหม่ได้ไม่นานนางสร้อยฟ้าก็ให้กำเนิดลูกชาย ชื่อ พลายยง ส่วนนางศรีมาลาก็คลอดลูกชายเช่นกัน ขุนแผนตั้งชื่อให้ว่า พลายเพชร
                   พระเจ้าเชียงอินทร์ ตั้งเถรขวาด เป็นพระสังฆราชเพื่อตอบแทนความดีความชอบที่พานางสร้อยฟ้ากลับบ้านเมืองได้อย่างปลอดภัย แต่เถรขวาดยังแค้นพลายชุมพล จึงเดินทางมาที่กรุงศรีอยุธยา แปลงเป็นจระเข้อาละวาดฆ่าคนและสัตว์เลี้ยงไปมากมาย พลายชุมพลจึงอาสาออกปราบจระเข้จนสำเร็จ ได้ตัวเถรขวาดมาประหารชีวิต พลายชุมพลได้บรรดาศักดิ์เป็นหลวงนายฤทธิ์ นับจากนั้นเป็นต้นมาทุกคนก็อยู่กันอย่างมีความสุข....
 
เกร็ดเล็กเกร็ดน้อย จากเรื่อง “ขุนช้างขุนแผน” ที่นำมาฝาก

ประเภทของเมีย

             1. กษัตริย์พระราชทาน   .....ปฏิเสธไม่ได้  และต้องเป็นเมียแต่ง เช่น พระพันวษายกนางสร้องฟ้าให้เป็นเมียพลายงาม

             2. เมียกลางเมือง   .....ถูกคลุมถุงชน เช่น นางศรีประจันบังคับให้นางวันทองแต่งงานกับขุนช้าง

             3. เมียนอกเมือง   .....เมียน้อย
 
             4. เมียกลางทาษี   .....เมียทาส

ของวิเศษ 3 อย่าง  ที่ขุนแผนต้องการ

             1. ม้าสีหมอก

             2. กุมารทอง

             3. ดาบฟ้าฟื้น


ที่มา : http://www.sobkok.com/community/index.php?topic=915.0
 

วันเสาร์ที่ 21 กันยายน พ.ศ. 2556

สัตว์ในวรรณคดีไทย

สัตว์ในป่าหิมพานต์
    สัตว์หิมพานต์ คือสัตว์ในจินตนาการที่กวี หรือจิตรกร พรรณนาถึง อาศัยอยู่ในป่าหิมพานต์หรือเขาไกรลาส ดังที่ปรากฏในวรรณคดีไตรภูมิพระร่วง และรามเกียรติ์ โดยมีลักษณะของสัตว์หลายชนิดมาประกอบกันในตัวเดียว 


   กิเลน

                  กิเลนเป็นสัตว์หิมพานต์ที่ได้รับมาจาก ประเทศจีน เช่นเดียวกับสัตว์หลายชนิดในจีน กิเลนตัวผู้กับตัวเมีย มีชื่อเรียก ไม่เหมือนกัน ตัวผู้มีชื่อเรียกว่า "กิ" ส่วนตัวเมียเรียกว่า "เลน" โดยทั่วไปเรียกโดยรวมว่า กิเลน
                 ในตำนานจีน กิเลนมีหัวเป็นมังกร มีเขาเดียว (เขาแบบกวาง) มีร่างกายแบบกวาง แต่ผิวปกคลุมไปด้วยเกล็ด หางเหมือนหางวัว และมีกีบเหมือนม้า สัตว์วิเศษนี้ประกอบไปด้วบเบญจธาตุ ดิน น้ำ ไฟ ไม้ และ โลหะ กล่าวกันว่า กิเลนมีชีวิตยืนยาวหลายพันปี บางตำนานก็กล่าวว่า ตัวผู้เท่านั้นที่มีเขา บ้างก็ว่ามีหลายเขา แทนที่จะเป็นเขาเดี่ยว กิเลนเป็นสัตว์นำโชค และเป็นหนึ่งในสี่ สัตว์วิเศษของจีน สัตว์วิเศษอีก ๓ ชนิดของจีนคือ นกหงส์ มังกร และ เต่า ตำนานเกี่ยวกับสัตว์ชนิดนี้มีอยู่ในประเทศอื่นด้วยเช่น ประเทศญี่ปุ่น และ เกาหลี ในญี่ปุ่น เรียกสัตว์ชนิดนี้ว่า คิริน 
                 คิรินคือม้าเขาเดี่ยวของญี่ปุ่น เป็นสัตว์เทวะที่ปราบปรามความชั่ว คอยปกป้องคนดี และมอบความโชคดี ให้คนเหล่านั้น การได้เห็นคิริน นับว่าเป็นโชคอย่างมหาศาล ในไทยเองก็มีรูปกิเลนตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ ๓ และมีรูปลักษณ์ต่างออกไป โดยมี ๓ แบบคือ กิเลนจีน กิเลนไทย และ กิเลนปีกในตำนานจีน กิเลนมีหัวเป็นมังกร มีเขาเดียว (เขาแบบกวาง) มีร่างกายแบบกวาง แต่ผิวปกคลุมไปด้วยเกล็ด หางเหมือนหางวัว และมีกีบเหมือนม้า สัตว์วิเศษนี้ประกอบไปด้วบเบญจธาตุ ดิน น้ำ ไฟ ไม้ และ โลหะ กล่าวกันว่า กิเลนมีชีวิตยืนยาวหลายพันปี พจนานุกรมจีน อธิบายกิเลนต่างออกไป ว่า กิเลนมีหัวเหมือนสุนัข แต่มีกายเป็นกวาง หางเป็นวัว กีบเหมือนม้า มีขนแผงคอหลากสี ขนใต้ท้องมีสีเหลือง มีสีกาย ๕ สี คือ แดง เหลือง น้ำเงิน ขาว และ ดำ ตัวผู้มีเขา ๑ เขา ส่วนตัวเมียไร้เขา กิเลนสามารถเดินบนผิวน้ำได้ 
มีเรื่องเล่าว่า สมัยราชวงศ์เมง ชาวจีนได้เห็นยีราฟเป็นครั้งแรก-ราวปี พ.ศ. ๑๙๕๗ จิตรกรจีนได้วาดภาพยีราฟไว้และเขียนกำกับชื่อภาพว่า กิเลน อาจเป็นเพราะยีราฟมีรูปร่างแปลก แถมยังมี เขาอ่อนเหมือนกวางบางชนิด 


สัตว์หิมพานต์พร้อมคำอธิบาย


สัตว์ประเภท กวาง 
 มารีศ 

มารีศ เป็นหนึ่งในตัวละครยักษ์ในเรื่อง รามายนะ (รามเกียรติ์). มารีศเป็นบุตรของนางยักษ์ชื่อ กากนาสูร และเป็นญาติของทศกัณฑ์ (ตัวร้ายหลักของเรื่อง) ในเรื่อง ทศกัณฑ์ต้องการจับตัวนางสีดา จึงสั่งให้มารีศให้จำแลงกาย เป็นกวางทองไปล่อนาง แผนนี้เกือบสำเร็จลุล่วง แต่ท้ายที่สุด มารีศก็โดนพระรามแผลงศรใส่ ในรูปวาดมารีศจึงเป็นรูปสัตว์ประหลาด กึ่งยักษ์กึ่งกวาง

...

พานรมฤค

พานรมฤคมีร่างท่อนบนเป็นลิงและมีกายท่อนล่างเป็นกวาง สัตว์ชนิดนี้มีพื้นฐานการเคลื่อนไหวว่องไวดั่งกวางและยังมีมือที่ว่องไวไว้ใช้สำหรับ
การจับยึดสิ่งต่างๆ มีโสตประสาทไวต่อการได้ยินเหมือนลิง  เหมือนกับลิง พานรมฤคกินอาหารจำพวกผลไม้ต่างๆ กล้วย มะพร้าว ไปจนถึงพืชผักนาๆ มักถูกเขียนให้ผิวกายมีสีเขียว
...

อัปสรสีหะ

อัปสรสีหะเป็นคนครึ่งกวาง เป็นสิ่งมีชีวิตทั่วไปในป่าหิมพานต์ บางครั้ง ก็ถูกวาดให้มีช่วงล่างเป็นสิงห์แทน
...





เกสรสิงห์ 

เกสรสิงห์ หรือกาสรสิงห์เป็นสิงห์มีส่วนผสม ระหว่างราชสีห์ กับสัตว์ประเภทวัวควาย กาสรสิงห์มีผิวกายสีเทา ร่างเป็นแบบสิงห์ แต่มีเท้าเป็นกีบเหมือนเท้าควาย 
...

เหมราช 

ตามชื่อของสัตว์ชนิดนี้ เหมราชเป็นสัตว์ผสมที่มีร่างเป็นสิงห์ส่วนหัวเป็นเหม เหมเป็นสัตว์ในวรรณคดีไทยชนิดหนึ่ง บ้างก็ว่ามีลักษณะเหมือนหงส์ (ห่าน) แต่ในบางรูป ก็วาดเหมเหมือนสัตว์ตระกูลจระเข้ 
...

คชสีห์ 

คชสีห์ เป็นสิงห์ผสมที่มีกายเป็นสิงห์ และมีช่วงหัวเป็นช้าง ตามตำรากล่าวว่าคชสีห์มีพลังเทียบเท่าช้างและสิงห์รวมกัน ซึ่งนับได้ว่าเป็นสัตว์ที่น่าเกรงขาม คชสีห์มีลักษณะคล้ายสัตว์หิมพานต์อีกชนิดหนึ่งชื่อทักทอ
...

ไกรสรจำแลง 

ไกรสรจำแลงมีหัวแบบมังกร และมีร่างเป็นราชสีห์ (สิงโต) จิตรกรบางท่านเรียกไกรสรจำแลงว่า "ไกรสรมังกร" ซึ่งมีความหมาย ตรงตัวว่ามังกรสิงห์ 
...

ไกรสรคาวี 

สัตว์ชนิดนี้มีลักษณะผสมระหว่างสิงโต และวัว. ในรูปจิตรกรรมไทย มักวาดไกรสรคาวีเป็นสัตว์ที่มีช่วงหัวเป็นวัว และมีร่างเป็น สิงโต. จิตรกรบางท่านวาดไกรสรคาวีเป็นสิงห์ที่มีหัวเป็นวัว แต่มีหางเหมือนม้า 
...

ไกรสรนาคา 

ตามชื่อของสัตว์ชนิดนี้ ไกรสรนาคาเป็นสิงห์ผสมที่มีส่วนประกอบของนาคด้วย หางเหมือนสัตว์เลื้อยคลานประเภทงู ตัวมีลักษณะคล้ายสิงห์ แต่มีเกล็ดแข็งปกคลุมทั่วกาย 
...

ไกรสรปักษา 

ไกรสรปักษาเป็นสัตว์ผสมระหว่างสิงห์กับนก. ตามรูปโบราณ ไกรสรปักษามีกายสีเขียวอ่อน หัวเป็นเหมือนพญาอินทรี ตัวเป็นดั่งราชสีห์แต่มีเกล็ดคลุม นอกจากนั้นยังมีปีกเหมือนนกอีกด้วย 
...



เทพนรสีห์ 

เทพนรสีห์เป็นสัตว์ผสมที่มีกายท่อนบนเป็นมนุษย์ ส่วนท่อนล่างเป็นสิงห์ แต่ในบางตำราก็ว่ามีช่วงล่างเป็นกวาง ตัวเมียเรียกว่า "อัปสรสีห์" 
...

ฑิชากรจตุบท 

ฑิชากรจตุบทเป็นสิงห์ที่มีลักษณะของนก คำว่า จตุบท มาจากคำว่าจตุ ซึ่งแปลว่า ๔ และ คำว่า บท มาจากคำว่า บาท ซึ่งหมายถึง เท้า 
ส่วนคำว่าฑิชากรแปลว่านก ในตำราบรรยายว่า สัตว์ชนิดนี้มีกายสีเขียวอ่อน ส่วนหางมีสีเหลือง 
...

โต 

โตมีลักษณะคล้ายสิงห์แต่ส่วนหัวมีเขา ๒ เขา ว่ากันว่าชื่อ โตนี้ได้มาจากชื่อสัตว์ในตำนานของประเทศลาว 
...

โตเทพสิงฆนัต 

โตเทพสิงฆนัต เป็นสัตว์ตระกูลสิงห์ มี กายสีน้ำตาล ชื่อของสัตว์ชนิดนี้มาจากคำว่า โต และ สิงฆนัต ทั้งสองคำ มีความหมาย พ้องกันคือ แปลว่าสิงโต 


ทักทอ 

ทักทอเป็นสัตว์ประหลาดอีกชนิดแห่งโลกหิมพานต์ มีกายท่อนล่างเป็นสิงห์ ส่วนหัวเป็นช้าง ผู้อ่านมักสับสนกับคชสีห์ เพราะทั้งคู่มีลักษณะคล้ายคลึงกันมาก จุดต่างของสัตว์ทั้งสองคือ ทักทอมีเครา และขนบนหัวตั้งไปข้างหน้า
...

ตัวพระในวรรณคดี

มารู้จักกับตัวพระในวรรณคดีกันเถอะ ^___^




 พระอภัยมณี 



              พระอภัยมณีเป็นตัวละครที่แปลกไปจากพระเอกในเรื่องอื่นๆของวรรณคดีไทย คือ ไม่มีฝีมือในการใช้อาวุธและไม่มีความรู้ทางเวทมนต์คาถา แถมยังขี้ขลาดอีกด้วยแม้ว่ารูปร่างลักษณะ และบุคลิกทั่วๆ ไปจะเหมือนพระเอกอื่นๆ คือ รูปงาม บอบบาง เจ้าชู้ และเป็นคนดีก็ตามความสามารถ ของพระอภัยมณีมีอยู่อย่างเดียวคือเป่าปี่ สันนิษฐานกันว่าสุนทรภู่เอาแบบมาจาก เตียวเหลียงในพงศาวดารจีนเรื่องไซ่ฮั่น เมื่อพระอภัยมณีและศรีสุวรรณ สองพี่น้องไปขอเรียนวิชาจากอาจารย์ทิศาปาโมกข์นั้น พระอภัยมณีอายุ 15 ปี ได้ตัดสินใจเลือกเรียนวิชาเป่าปี่
พระเชษฐาว่าจริงแล้วเจ้าพี่วิชามีแล้วใครไม่ข่มเหง
แต่ใจพี่นี้รักทางนักเลงหมายว่าเพลงดนตรีนี้ดีจริง
ถึงการเล่นเป็นที่ประโลมโลกได้ดับโศกสุญหายทั้งชายหญิง
         นี่เป็นความคิดเห็นเรื่องดนตรีของพระอภัยมณี ซึ่งอาจารย์ได้ขยายความถึงอานุภาพของ เพลงปี่อีกว่า
ถ้าแม้ว่าข้าศึกมันโจมจับจะรบรับสารพัดให้ขัดสน
เอาปี่เป่าเล้าโลมน้ำใจคนด้วยเล่ห์กลโลกาห้าประการ
คือรูปรสกลิ่นเสียงเคียงสัมผัสเกิดกำหนัดลุ่มหลงในสงสาร
ให้ใจอ่อนนอนหลับดังวายปราณจึงคิดอ่านเอาชัยเหมือนใจจง
         กระนั้นก็ตาม คุณประโยชน์ของดนตรียังเป็นที่คลางแคลงแก่ผู้ที่เกี่ยวข้องกับพระอภัยมณี
อยู่มา ท้าวสุทัศน์เองก็เห็นเพียงว่า

อันดนตรีปี่พาทย์ตะโพนเพลงเป็นนักเลงเหล่าโลนเล่นโขนหนัง
แต่พวกกูผู้หญิงที่ในวังมันก็ยังเรียนร่ำได้ชำนาญ
         พระอภัยมณีและศรีสุวรรณก็เลยถูกขับออกจากเมืองและเริ่มการผจญภัยตั้งแต่นั้น ความสามารถ
ในเชิงปี่ของพระอภัยมณีได้แสดงให้พราหมณ์หนุ่ม โนรา สานน และวิเชียร ซึ่งขอชมเป็นครั้งแรก เพลงปี่
ตอนนี้มีความไพเราะในลีลาน้ำคำคล้ายเสียงดนตรี มีเนื้อความว่า

ในเพลงปี่ว่าสามพราหมณ์เอ๋ยยังไม่เคยชมชิดพิสมัย
ถึงร้อยบุปผาสุมาลัยจะชื่นใจเหมือนสตรีไม่มีเลย
พระจันทร์จรสว่างกลางโพยมไม่เทียบโฉมนางงามพี่พราหมณ์เอ๋ย
แม้นได้แก้วแล้วจะค่อยประคองเคยถนอมเชยชมโฉมประโลมลาน
         พราหมณ์ทั้งสามและศรีสุวรรณได้ฟังก็เคลิ้มหลับไป พระอภัยมณีจึงถูกผีเสื้อยักษ์ลักพาไปเป็น
สามีเพราะนางเห็นว่า "ทั้งทรวดทรงองค์เอวก็อ้อนแอ้น เป็นหนุ่มแน่นน่าชมประสมสอง" เพลงปี่ทำให้
พระอภัยมณีมีชายาเป็นครั้งแรกเมื่ออายุยังไม่เต็มสิบหกปี และอยู่กินด้วยกันจน สินสมุทร บุตรชายอายุได้
แปดปี จึงได้พากันหนีจากนางผีเสื้อผจญภัยต่อไป แต่ถึงแม้พระอภัยมณีจะมีชายหลายคนจนได้ชื่อว่าเจ้าชู้
ก็มิได้ประพฤติผิดประเพณีเหมือน พระเอกวรรณคดีอื่นๆ บางเรื่อง พระอภัยมณีได้นางผีเสื้อเพราะ
จำยอม ได้นางเงือกเพราะความกตัญญู และสงสาร ได้นางวาลีเพราะนางถวายตัว ได้นางสุวรรณมาลี
ก็โดยอภิเษกสมรส หลังจากที่ได้ใช้ความพยายาม อย่างยิ่งยวด นางละเวงก็เช่นเดียวกันพระอภัยมณี
ต้องเอาชีวิตเข้าเสี่ยงเพราะเป็นความรักระหว่างรบ และต้องอาศัยคนอื่นช่วยเหลือ พระอภัยมณีไม่เคย
เกี้ยวผู้หญิงสำเร็จด้วยตนเองเลย นอกจากกับนางเงือก ความรักของพระอภัยมณีที่มีต่อชายา
ทุกคนนั้นเป็นรักแท้ แม้กับผีเสื้อยักษ์ซึ่งถูกข่มขืนให้จำยอม แต่ผีเสื้อยักษ์ตายไปพระอภัยมณีก็ร้องไห้จนสลบ เมื่อนางวาลีตายก็เช่นกัน พระอภัยมณีก็อธิษฐานให้ได้ พบกันใหม่ในชาติหน้า
กับนางสุวรรณมาลีและนางละเวงก็ครองคู่อยู่จนไปบวชด้วยกันในบั้นปลาย กับนางเงือกเท่านั้น
ที่ดูห่างเหิน แต่ตอนหลังพระอภัยมณีก็ไปเทศน์โปรดให้ถือศีล
         อุปนิสัยของพระอภัยมณีเป็นคนใจอ่อนและขี้ขลาด เหมาะจะเป็นศิลปินมากกว่ากษัตริย์
ในคำกลอน มักจะมีสร้อยต่อท้ายชื่อแสดงบุคลิกของพระอภัยมณีให้เห็นได้ชัดเจน เช่น
         พระอภัยใจอ่อนถอนสะอื้น..........................
         ฝ่ายองค์พระอภัยวิไลโฉม...........................
         ฝ่ายพระองค์ทรงโฉมประโลมสวาท...............
         สงสารองค์พระอภัยวิไลลักษณ์....................
         สงสารองค์พระอภัยวิไลโลก........................
         องค์พระอภัยมณีศรีโลภา............................ ฯลฯ





  พระราม

                                                
  พระราม คือ พระนารายณ์อวตาร (แบ่งภาค) ลงมา  ถือกำเนิดเป็นพระราชโอรสของท้าวทศรถ กับ นางเกาสุริยา เพื่อจะปราบทศกัณฐ์  พระรามมีพระอนุชาต่างพระมารดา ๓ พระองค์ คือ พระพรต พระลักษมณ์ และพระสัตรุต ซึ่งต่างก็มีความรักใคร่กันอย่างมาก  พระมเหสีของพระราม คือ นางสีดา
        พระรามมีกายสีเขียว สามารถปรากฏร่างเป็นพระนารายณ์มีสี่กรได้  อาวุธประจำพระองค์ คือ ศร ซึ่งเป็นอาวุธวิเศษ ที่ได้ประทานมาจากพระอิศวร
        บทบาทที่สำคัญในเรื่องรามเกียรติ์  ได้แก่
       -  เมื่อเยาว์วัยพระรามได้รับการศึกษาศิลปศาสตร์ กับสำนักฤาษีสวามิตร หรือวิศวามิตร มีความเก่งกล้า ถึงกับฆ่ากากนาสูร และสวาหุ ซึ่งมารบกวนเหล่าฤาษีชีไพร
       -  ท้าวชนกจักรวรรดิ์(ฤาษีชนก) ได้ให้หมู่กษัตริย์มาประลองยกศรรัตนธนู เพื่ออภิเษกกับนางสีดา พระรามก็สามารถยกรัตนธนูได้สำเร็จ  และได้อภิเษกกับนางสีดา  ระหว่างเดินทางกลับกรุงอโยธยา สามารถปราบรามสูร(ยักษ์ผู้ถือขวาน) และได้รับศรจากรามสูร
       -  ได้ฆ่าพระยาขร และพระยาทูษณ์ พี่ชายของนางสำมนักขา
       -  ระหว่างออกเดินป่า ได้ปราบพิราบยักษ์
       -  ได้ช่วยสุครีพปราบพาลี 
       -  ไปรบกับทศกัณฐ์ และได้ฆ่าทศกัณฐ์ได้สำเร็จ
       -  สถาปนาพิเภกให้ครองกรุงลงกา




ทศกัณฐ์ 

                                                 
ทศกัณฐ์ เป็นกษัตริย์แห่งกรุงลงกา   นับว่าเป็นตัวเอกของเรื่องรามเกียรติ์  มีกายสีเขียว มี ๑๐ พักตร์ ๒๐ กร ทรงมงกุฏชัย ลักษณะปากแสยะ ตาโพลง  ดังโคลงที่กล่าวว่า
                   "ทศกัณฐ์สิบพักตร์ขึ้น เศียรตรี 
                   ทรงมงกุฏชัยเขียวสี อาตม์ไท้
                   กรยี่สิบพรศุลี ประสาทฤทธิ์ ยิ่งนา  
                   ถอดจิตจากตนได้ ปิ่นด้าว ลงกา"
         ทศกัณฐ์ เดิมเป็นยักษ์นนทกกลับชาติมาเกิด เพื่อรบกับพระนารายณ์ ซึ่งอวตารมาเกิดเป็นมนุษย์ ไม่มีใครฆ่าให้ตายได้ เพราะทศกัณฐ์ถอดดวงใจใส่กล่อง ฝากไว้กับพระฤาษีโบุตรผู้เป็นอาจารย์  ทศกัณฐ์มีนิสัยเจ้าชู้ มีชายาและนางสนมมากมาย  แต่ถึงกระนั้นเมื่อรู้ว่านางสีดาเป็นหญิงที่มีความงดงามมาก  แม้นางจะมีพระสวามีอยู่แล้ว ก็ยังลักพาตัวไป  จึงเป็นสาเหตุให้ต้องทำศึกกับพระราม จนญาติมิตรล้มตายไปเป็นจำนวนมาก  และในที่สุดตนเองก็ถูกพระรามฆ่าตาย


ขุนแผน 
                                  
ขุนแผน เดิมชื่อพลายแก้ว มีรูปร่างหน้าตางดงามคมสัน สติปัญญาเฉลียวฉลาด นิสัยเจ้าชู้ มีดาบฟ้าฟื้นเป็นอาวุธประจำตัว พาหนะคู่ใจคือ ม้าสีหมอก พ่อเป็นทหารชื่อ ขุนไกรพลพ่าย แม่ชื่อ นางทองประศรี ได้บวชเณรและเรียนวิชาที่วัดส้มใหญ่ แล้วย้ายไปเรียนต่อที่วัดป่าเลไลย สุดท้ายไปเป็นศิษย์สมภารคง วัดแค จนมีความรู้ทางโหราศาสตร์ ปลุกผี อยู่ยงคงกระพัน คาถามหาละลวยทำให้ผู้หญิงรัก ตลอดจนวิชาจากตำรับพิชัยสงคราม และยังมีความสามารถเทศ์ได้ไพเราะจับใจอีกด้วย ต่อมาสึกจากเณรแล้วแต่งงานกับนางพิมพิลาไลย ไม่นานก็ถูกเรียกตัวไปเป็นแม่ทัพรบกับเชียงใหม่ ครั้นได้ชนะกลับมาก็ได้เป็นขุนแผนแสนสะท้าน แต่ปรากฏว่าภรรยาแต่งงานใหม่แล้ว ขุนแผนต้องโทษถูกจำคุกถึง ๑๕ ปี จึงพ้นโทษ และทำสงครามกับเชียงใหม่อีกครั้ง เมื่อชนะกลับมาก็ได้ตำแหน่งเป็นพระสุริทรฤาไชย เจ้าเมืองกาญจนบุรี






 อิเหนาหรือระเด่นมนตรี



 อิเหนาหรือระเด่นมนตรี เป็นโอรสของท้าวกุเรปันและประไหมสุหรีนิหลาอระตา แห่งกรุง
กุเรปัน อิเหนาเป็นชายรูปงามมีเสน่ห์   เจรจาอ่อนหวาน นิสัยเจ้าชู้  มีความเชี่ยวชาญในการใช้กริช    และกระบี่เป็นอาวุธ ท้าวกุเรปันได้สู่ขอบุษบาหนึ่งหรัดธิดาของท้าวดาหาเป็นคู่ตุนาหงันของอิเหนาตั้งแต่เด็ก ครั้นอิเหนาโตเป็นหนุ่มได้พบ จินตะหราวาตีและหลงใหลนางมาก จึงปฏิเสธไม่ยอมแต่งงานกับบุษบา แต่พอได้พบกับบุษบาก็หลงรักนาง จนกระทั่งลักพาตัวนางไปขณะที่นางกำลังจะเข้าพิธวิวาห์กับระตูจรกา ทำให้องค์ปะตาระกาหลาโกรธอิเหนาจึงบันดาลให้ลมหอบนางไปเสีย อิเหนาก็ปลอมตัวเป็นโจรป่าชื่อ มิสารปันหยี ออกติดตามหานางจนทั่วแผ่นดินชวาก็ไม่พบ จึงตัดสินใจบวชเป็นฤาษี ใช้ชื่อว่า กัศมาหรา ได้รับความทุกข์ทรมานใจแสนสาหัสกว่าจะได้พบนางบุษบาอีกครั้ง ภายหลังอิเหนาได้เป็นกษัตริย์ครองเมืองกุเรปันมีมเหสีถึง ๑๐ องค์

ลักษณะนิสัย
            ๑. มีความรู้สึกรุนแรงในความรัก เมื่อได้พบนางจินตะหรา มีรูปร่างสวยงามก็คลั่งไคล้หลงใหลจนไม่ยอมเข้าพิธีอภิเษกกับนางบุษบาคู่หมั้น โดยมิฟังคำเตือนของท้าวกุเราปันบิดา 
ต่อมาได้นางสกาวะราตีและนางมาหยารัศมีก็มีความรักใคร่ผูกพันธ์นางทั้ง ๒ เป็นอันมาก 
ก่อนจากไปเมืองดาหาได้ฝากทั้ง ๒ ไว้กับนางจินตหรา ระหว่างที่เคลื่อนทัพไปยังเมืองดาหา
ก็คร่ำครวญถึงนางทั้ง ๓ ตลอดทาง 
            ๒. มีความเคารพยำเกรงบิดา เมื่อท้าวกุเรปันมีราชสาส์นสั่งให้นำทัพไปช่วยท้าวดาหา ถ้าไม่ไปจะตัดพ่อลูก อิเหนาก็ตกลงไปเกรงกลัวท้าวกุเรปันดดยขอผัดไป ๗  วันล่วงแล้ว 
แต่ในที่สุดก็ยอมเคลื่อนทัพในวันรุ่งขึ้น 
            ๓. เห็นแก่ชื่อเสียงของวงศ์อสัญหวา การที่อิเหนายอมยกทัพไปช่วยเมืองดาหา 
นอกจากเกรงและเคารพแล้ว อิเหนามีความเห็นแก่ชื่อเสียงของวงศ์อสัญหวาด้วย 
            ๔. มีความสำนึกในความผิด  เมื่ออิเหนายกทัพถึงเมืองดาหา  ท้าวดาหาก็เชิญให้
นำไพร่พลเข้ามาในเมือง อิเหนาสำนึกในความผิดไม่ขอรับพระกรุณษ อาสาทำศึกเพื่อไถ่โทษแล้วจะเข้ามาเฝ้าถวายความเคารพภายหลัง 
            ๕. มีความรอบคอบไม่ประมาท อิเหนาเห็นว่าสังคามาระตาชำนาญการรบด้วยทวนมากกว่ากระบี่จึงเตือนให้ต่อสู้กับวิหยาสะกำด้วยทวนอย่าใช้กระบี่เป็นอันขาด ผลสุดท้ายก็ชนะ 
            ๖. มีความเมตตากรุณาให้อภัยโทษแก่ศัตรูที่ยอมสวามิภักดิ์  เมื่อระตูประหมันและ
ระตูปาหยังขอนอบน้อมยอมเป็นข้า อิเหนาก็ไว้ชีวิต และอนุญาติให้นำศพท้าวกะหมังกุหนิง
และวิหยาสะกำไปประกอบพิธีในเมือง



ที่มา : http://literature-2.blogspot.com/

นางในวรรณคดีไทย




10 นางในวรรณคดียอดนิยม

กลุ่มแรก คือประเภทนางเอกที่มีทั้งความสวยและมีคุณงามความดีเป็นที่กล่าวขวัญถึง
๑.นางสีดา เป็นนางเอกในเรื่องรามเกียรติ์ เป็นเมียของพระราม ซึ่งเชื่อกันว่าเป็นอวตารหนึ่งของพระนารายณ์มาปราบยักษ์(ทศกัณฐ์) รูปโฉมของนางสีดานั้นเป็นที่เลืองลือว่าล้ำเลิศจนไม่มีมนุษย์หรือเทพธิดาใดจะสามารถเทียบเคียงได้ จึงเป็นเหตุให้ทศกัณฐ์เจ้ากรุงลงกามาลักพาตัวไป และเกิดศึกชิงนางยืดเยื้อนานถึงสิบกว่าปี จนในที่สุดพระรามซึ่งมีหนุมานเป็นสมุนเอกก็รบชนะพานางสีดากลับมากรุงอยุธยาได้ และนางสีดาก็ได้พิสูจน์ความบริสุทธิ์ใจและความจงรักภักดีด้วยการลุยไฟต่อหน้าพระรามพระสวามี ดังนั้น นอกจากความสวยงามแล้ว การพิสูจน์ความรักด้วยการลุยไฟของนางสีดา ก็เป็นสิ่งถูกนำมามาพูดกันอยู่เสมอ

๒.นางสาวิตรี จากเรื่องสาวิตรี ชื่อนี้หลายคนอาจจะคุ้นหู แต่มักนึกไม่ออกว่าเนื้อเรื่องเป็นอย่างไร นางสาวิตรีเป็นพระธิดาของท้าวอัศวบดี เมื่อเติบโตเป็นสาว พระบิดาให้เลือกสามีเองตามใจชอบ ปรากฏว่านางได้เลือกพระสัตยวาน เป็นสวามี แม้จะถูกทัดทานว่าพระสัตยวานจะมีอายุอยู่ได้อีกเพียงปีเดียว แต่เมื่อนางตกลงปลงใจแล้ว ก็ไม่เปลี่ยนใจและได้แต่งงานกันในที่สุด ต่อมาอีกปี พระสัตยวานก็ตายลงดังคำทำนาย นางสาวิตรีได้พบกับพระยมโดยไม่แสดงความหวั่นเกรง และเดินตามพระยมที่พาวิญญาณสวามีไป ระหว่างทางนางได้ใช้สติปัญญาและความเฉลียวฉลาดโต้ตอบกับพระยมด้วยถ้อยคำอ่อนน้อมไพเราะ จนพระยมใจอ่อนให้พรตามที่นางขอโดยลำดับ แต่มีข้อห้ามว่า ห้ามขอชีวิตสวามี จนท้ายสุดนางได้ขอพรว่า ขอให้นางมีโอรสที่เรืองฤทธิ์ร้อยองค์ พระยมกำลังให้พรเพลินก็ลืมฉุกใจคิด ให้พรตามที่ขอ นางจึงบอกต่อพระยมว่าพรสุดท้ายที่ขอนั้นไม่อาจจะสำเร็จได้ หากไม่มีสามีคือพระสัตยวาน ในที่สุดพระยมจึงต้องคืนสวามีให้ กล่าวได้ว่านางสาวิตรีเป็นนางเอกที่เฉลียวฉลาดและรู้จักใช้วาทศิลป์จนได้ในสิ่งที่ปรารถนา และยังมีความกล้าหาญไม่กลัวพระยมที่เป็นเจ้าแห่งความตายด้วย    

๓.นางเอื้อย นางเอกจากวรรณกรรมพื้นบ้าน เรื่องปลาบู่ทอง ซึ่งเป็นเรื่องที่รู้จักกันดีอีกเรื่องหนึ่ง แม่นางเอื้อยถูกพ่อทุบตีจนตกน้ำตาย กลายเป็นปลาบู่ทองมาหาลูก ส่วนนางเอื้อยก็ถูกกลั่นแกล้งจากแม่เลี้ยงและนางอ้ายลูกแม่เลี้ยงต่างๆนานา แต่นางก็เป็นคนที่มีความกตัญญูรู้คุณยิ่ง แม้แม่จะเป็นปลาก็ยังหาอาหารไปให้แม่ ครั้นแม่ปลาถูกฆ่าตายกลายไปเป็นต้นมะเขือ ก็พยายามบำรุงรดน้ำต้นมะเขืออย่างดี ครั้นมะเขือถูกทำลายก็หาทางนำเมล็ดไปปลูกใหม่จนกลายเป็นต้นโพธิ์เงินโพธิ์ทอง และต่อมาได้เข้าวังเป็นสนมเอก ถูกหลอกว่าพ่อป่วย ก็รีบมาเยี่ยมโดยไม่ได้คิดอาฆาตที่พ่อทำร้ายแม่ ในที่สุดก็ถูกแม่เลี้ยงทำอุบายฆ่าตายกลายเป็นนกแขกเต้า ต่อมาภายหลังนางเอื้อยก็ได้ฤษีชุบชีวิตและให้ความช่วยเหลือจนได้กลับครองรักกับพระเจ้าพรหมทัตใหม่อีกครั้ง นับเป็นนางเอกแสนดีแม้จะถูกทารุณกรรม แต่ก็มีความกตัญญูยิ่ง


กลุ่มที่ ๒ เป็นนางเอกประเภทรักลำบาก รักพลัดพรากจนถึงโศกนาฏกรรมรักที่ต้องสังเวยชีวิต ได้แก่

 
๔.นางรจนา จากเรื่องสังข์ทอง เป็นธิดาองค์สุดท้องในจำนวนเจ็ดองค์ของท้าวสามล พี่ๆเลือกคู่ได้สามีสมน้ำสมเนื้อกันแล้ว แต่นางรจนากลับเลือกได้เจ้าเงาะรูปชั่วตัวดำ ทั้งๆที่ตนเป็นสาวสวย จึงเป็นที่เยาะเย้ยไปทั่ว ทำให้พระบิดากริ้วไล่ให้ไปตกระกำลำบากอยู่กระท่อมปลายนา แต่ความจริงที่นางเลือกก็เพราะเห็นรูปทองอยู่ข้างใน เจ้าเงาะถึงจะขี้ริ้วแต่ก็มีวิชาความรู้ จนต่อมาพระอินทร์ต้องแปลงร่างมาท้าตีคลีเพื่อช่วยให้เจ้าเงาะได้ถอดรูปให้ทุกคนเห็นรูปทองในที่สุด ดังนั้น สาวๆที่มีแฟนหรือสามีขี้ริ้วจึงมักถูกว่าเป็นนางรจนาควงเจ้าเงาะ หรือหากไม่แต่งงานก็มักจะถูกล้อว่าไม่เสี่ยงพวงมาลัยสักที เนื่องจากนางรจนาเลือกคู่ด้วยการเสี่ยงโยนพวงมาลัย

 
๕.นางเมรี เป็นนางเอกในวรรณกรรมท้องถิ่นเรื่อง นางสิบสอง เป็นลูกนางยักษ์ ซึ่งนางยักษ์นี้เดิมได้เลี้ยงนางสิบสองมา แต่เมื่อนางสิบสองหนีมาจึงโกรธแค้น ได้ตามมาทำอุบายจนได้เป็นมเหสีของท้าวรถสิทธิ์สวามีนางสิบสอง และควักลูกตานางสิบสองเสีย ยกเว้นนางเภาแม่พระรถเสนพระเอกที่ถูกควักตาเพียงข้างเดียวและเป็นคนเดียวที่ไม่ได้กินลูกเพราะความหิวโหย ต่อมานางยักษ์ได้ออกอุบายจะฆ่าพระรถเสนโดยแกล้งป่วยแล้วให้ไปเอายาในเมืองที่นางเมรีอยู่ โดยฝากสารสั่งให้นางเมรีฆ่าพระรถเสน ถึงเมืองเมื่อไรก็ให้ฆ่าเมื่อนั้น ฤษีก็ได้แปลงสารว่าถึงเมื่อไรก็ให้แต่งงานเมื่อนั้น ซึ่งท้าวรถเสนเองเห็นนางก็หลงรักและแต่งงานกัน แต่เนื่องจากมีงานสำคัญคือช่วยแม่และป้าที่รออยู่ พระรถเสนจึงได้มอมเหล้านางเมรีพร้อมขโมยลูกตาและยาที่จะช่วยแม่กับป้าไป นางเมรีเมื่อสร่างเมา ตามไปก็ถูกพระรถเสนใช้ของวิเศษขัดขวางนางทำให้ตามไปไม่ได้ นางจึงคร่ำครวญจนสิ้นใจตาย ถือเป็นนางเอกที่มีรักแท้แต่เพราะน้ำเมาจึงต้องเสียทั้งคนรักและชีวิตตนในที่สุด คนจึงมักเรียกสาวๆที่ขี้เหล้าว่า นางเมรีขี้เมา และก็มักเปรียบเวลาเปลี่ยนข้อความในจดหมายหรือหนังสือต่าวๆว่าเป็นฤษีแปลงสาร


๖.พระเพื่อนพระแพง เป็นสองพระธิดาผู้เลอโฉมของเมืองสรอง ได้ยินคำร่ำลือชมรูปโฉมที่เลอเลิศของพระลอ กษัตริย์หนุ่มแห่งเมืองแมนสรวง ก็เกิดตกหลุมรัก จึงได้ใช้อุบาย และทำเสน่ห์จนพระลอซึ่งแม้จะมีมเหสีอยู่แล้ว ก็ทิ้งมเหสีและบ้านเมืองตามไปหาพระเพื่อนพระแพงที่เมืองสรอง แต่ที่สุดก็กลายโศกนาฏกรรมรัก เพราะทั้งพระลอและพระเพื่อนพระแพงต่างต้องมาตายด้วยความแค้นของเจ้าย่าที่ไม่ยอมให้อภัยพ่อของพระลอที่ฆ่าสามีตน หรือปู่ของพระเพื่อนพระแพงนั่นเอง แม้จะเป็นเรื่องเศร้า แต่เมื่อใครเอ่ยถึงสาวใดว่าเป็นเหมือนพระเพื่อนพระแพง ส่วนใหญ่จะมีความหมายว่าหน้าตาคล้ายกัน หรือแต่งตัวเหมือนๆกันมากกว่าจะพาดพิงไปถึงเนื้อหาดังกล่าวข้างต้น
 

กลุ่มที่ ๓ มี ๓ คนคือนางวันทอง โมรา กากี จัดเป็นนางเอกประเภทสวยเอ็กซ์ คือ นอกจากสวยแล้วคงต้องเซ็กซี่ มีเสน่ห์แรงด้วย ถึงมีชายเข้าหาอยู่เสมอ จึงทำให้มีแต่เรื่องฉาวคาวโลกีย์ และถูกประณามหยามหมิ่นมากที่สุด ความจริงกลุ่มนี้ ปัจจุบันได้ถูกนำมาถกเถียงกันอย่างกว้างขวาง ว่านางชั่วเพราะใคร หากจะพิจารณาในแง่มุมของชาย แน่นอนผู้หญิงเหล่านี้ประพฤติผิดความเป็นลูกผู้หญิง แต่เราก็ควรได้พินิจพิเคราะห์ถึงสภาพแวดล้อม และความจำยอมของแต่ละคนด้วย จึงจะยุติธรรม อย่างไรก็ดี พฤติกรรมของนางเอกเหล่านี้ก็ยังถูกหยิบมาต่อว่าหญิงอยู่เสมอ คือ
 

๗.นางวันทอง เดิมชื่อนางพิมพิลาไลย เป็นนางเอกในเรื่องขุนช้าง-ขุนแผน (เปลี่ยนชื่อใหม่เพื่อแก้เคล็ดให้หายป่วย ตอนขุนแผนไปรบ) นางถูกยื้อไปแย่งมาระหว่างขุนแผน และขุนช้าง จนในที่สุดพระพันวษาต้องให้นางเลือกว่าจะอยู่กับใครระหว่างขุนแผนหรือขุนช้าง แต่นางวันทองก็ไม่สามารถตัดสินใจได้ เพราะแม้ขุนแผนจะเจ้าชู้จนมีเรื่องราวทะเลาะเบาะแว้งหึงหวงกันอยู่เสมอ แต่ก็เป็นรักแรกและยังมีลูกด้วยกันคือพลายงามอีกด้วย ส่วนขุนช้างแม้จะขี้ริ้วขี้เหร่ แต่ก็มีรักจริงและรักเดียว แถมดูแลนางอย่างดีเพราะมีเงินทองร่ำรวย การที่นางไม่สามารถตัดสินใจได้เด็ดขาดนี่เอง จึงทำให้ถูกพระพันวษาสั่งประหารชีวิตด้วยความกริ้ว และเป็นเหตุให้ถูกประณามว่า เป็นวันทองสองใจบ้าง นางวันทองสองผัวบ้าง ทั้งๆที่ชีวิตนางวันทองน่าเห็นใจไม่น้อย เพราะถูกสองหนุ่มยื้อกันไปยื้อกันมา แม้ไม่เต็มใจ แต่ก็อยู่ในภาวะจำยอมเพราะช่วยตัวเองไม่ได้ 


๘.นางโมรา อยู่ในเรื่อง จันทโครพ เจ้าชายจันทโครพได้ไปศึกษาเล่าเรียนอยู่กับพระฤษีตนหนึ่งจนสำเร็จวิชา อาจารย์เลยให้ผอบทองซึ่งมีสาวสวยคือนางโมราอยู่ข้างใน โดยพระฤษีได้กำชับว่าอย่าเปิดผอบระหว่างทาง แต่จันทโครพห้ามความอยากรู้อยากเห็นไม่ได้ จึงเปิดผอบออกมาเห็นนางโมราก็ตกหลุมรักและได้นางเป็นชายาที่กลางป่านั่นเอง แต่ขณะที่ทั้งคู่เดินทางกลับเมือง ก็ไปเจอโจรป่าเข้า เลยถูกปล้นหวังจะชิงนางโมรา จึงเกิดการต่อสู้กันขึ้น ท้ายสุดพระขรรค์หลุดไป จันทโครพตะโกนให้นางส่งพระขรรค์ให้ นางกลับส่งให้โจรจนฆ่าจันทโครพตาย ส่วนโจรเมื่อได้นางโมราแล้ว เกิดไม่แน่ใจ กลัวถูกทรยศ จึงแอบหนีนางไป ทำให้นางต้องระหกระเหินหิวโหยอยู่ในป่า พระอินทร์จึงแปลงเป็นเหยี่ยวคาบชิ้นเนื้อมาลองใจ ว่าให้ชิ้นเนื้อแล้วนางต้องมาเป็นภรรยา นางโมราก็ไม่แสดงอาการขัดข้อง พระอินทร์เห็นเช่นนั้น จึงโกรธว่าเป็นหญิงมักมากในกามคุณ ไม่เลือกว่าโจรหรือสัตว์ แล้วสาปนางโมราให้กลายเป็นชะนีส่งเสียงร้องโหยหวนว่า "ผัววว...." นางโมราจึงเป็นอีกนางหนึ่งที่ถูกสังคมตราหน้าว่าเป็นหญิงไม่ดี เป็นคนหลายใจ และที่ว่าชะนีร้องหาผัวก็มาจากเรื่องนี้นี่เอง



๙.นางกากี ในเรื่อง กากี นับเป็นนางเอกที่อื้อฉาวที่สุดก็ว่าได้ นางกากีนี้นอกจากจะมีรูปกายงดงามราวกับเทพธิดาแล้ว ยังมีกลิ่นกายหอมเป็นเสน่ห์พิเศษอีกอย่างหนึ่ง ชายใดที่แตะต้องสัมผัสนางกลิ่นกายนางก็จะหอมติดชายคนนั้นไปถึงเจ็ดวันเลยทีเดียว นางกากีเป็นพระมเหสีของท้าวบรมพรหมทัต ซึ่งโปรดการเล่นสกามาก และมีพระยาครุฑเวนไตยซึ่งแปลงร่างเป็นมานพรูปงามมาเล่นสกาอยู่ด้วยเนืองๆ จนวันหนึ่งเล่นเพลิน มิได้ไปหานางกากี นางจึงมาแอบดู และสบตาเข้ากับพระยาครุฑแปลง ต่างก็เกิดอาการหวั่นไหว ภาษาสมัยใหม่ก็ต้องว่าเกิดอาการ"ง"กัน ต่อมาพระยาครุฑได้บินมาลักพานางไปอยู่ที่วิมานฉิมพลี ทำให้ท้าวพรหมทัตกลัดกลุ้มพระทัย คนธรรพ์นาฏกุเวร (คนธรรพ์คือเทวดาชั้นผู้น้อยที่มีความชำนาญด้านดนตรี) ซึ่งเป็นพี่เลี้ยงของท่านท้าวก็อาสาจะพานางกลับมาให้ จึงได้แปลงตัวเป็นไรแทรกขนครุฑตามไปวิมานของครุฑ ครั้นพระยาครุฑบินออกไปหาอาหาร นาฏกุเวรคนธรรพ์ก็ออกมา แต่แทนที่จะพานางกลับเมือง กลับเกี้ยวพาและเล้าโลมนางจนได้เสียกัน แล้วกลับมารายงานท่านท้าวว่านางกากีจะอยู่กับครุฑและตนได้เสียกับนางแล้วเพื่อให้ครุฑรังเกียจนาง ท่านท้าวก็โกรธแต่ทำอะไรมิได้ ต่อมาพระยาครุฑแปลงมาเล่นสกาอีก ก็ถูกคนธรรพ์เล่นพิณเยาะเย้ย เมื่อสอบถามได้ความจริง พระยาครุฑก็โกรธนางกากี นำกลับมาปล่อยไว้ในเมือง ครั้นท่านท้าวเห็นนางก็ว่าถากถางและนำนางไปลอยแพกลางทะเล ต่อมานางได้รับความช่วยเหลือจากนายสำเภา ซึ่งได้รับนางเป็นภรรยา แต่เคราะห์กรรมนางก็ยังไม่หมด ต่อมาถูกนายโจรมาลักพาตัวไปเพราะหลงใหลในความงาม ปรากฏว่าในหมู่โจรก็เกิดการแย่งชิงนางขึ้นมาอีก นางหนีไปได้ ต่อมาได้เป็นมเหสีของท้าวทศวงศ์ กษัตริย์อีกเมือง สุดท้ายปรากฏว่านาฏกุเวรที่ได้ครองเมืองแทนท้าวบรมพรหมทัตที่สวรรคตลง ก็ตามไปชิงนางคืนมาและฆ่าท้าวทศวงศ์เสีย เรื่องก็จบลง นับดูแล้วนางกากีมีสามีถึง ๕ คน แสดงว่าต้องเป็นคนที่เซ็กซี่มีเสน่ห์ดึงดูดเพศตรงข้ามอย่างมาก จึงต้องตกระกำลำบากถูกสังคมประณามเพราะเสน่ห์แรงเกินไปนี่เอง
คนสุดท้ายนี้ ต่างไปจากกลุ่มข้างต้น เพราะนอกจากจะเป็นสามัญชนคนธรรมดาแล้ว ยังแสนจะขี้เหร่ ชนิดพระเอกไม่มองแล้วยังกลั่นแกล้งอีกต่างหาก คือ 


๑๐.นางแก้วหน้าม้า จากเรื่องแก้วหน้าม้า ในเรื่องกล่าวถึงพระเอกคือพระปิ่นทองไปทรงว่าวแล้วสายป่านเกิดขาด ว่าวลอยไปตกหน้าบ้านนางแก้วหน้าม้า พระปิ่นทองตามมาขอคืน นางก็ยืนข้อเสนอว่าต้องสัญญาว่าจะรับนางไปเป็นมเหสีในวังจึงจะคืนว่าวให้ พระปิ่นทองก็แสร้งรับปากเพื่อหลอกเอาว่าวคืน นางแก้วรอแล้วรอเล่า ก็ไม่เห็นมีใครมารับ ก็ขอให้พ่อแม่ช่วย พ่อแม่ก็ไปให้ ท้าวภูวดลพ่อพระปิ่นทองทราบเรื่องก็พิโรธ แต่พระมเหสีนันทามีความยุติธรรม ก็ให้ไปรับนางแก้วเข้าวัง เพราะถือว่ากษัตริย์ตรัสแล้วไม่คืนคำ ซึ่งเมื่อนางแก้วเข้าวังแล้วก็ไปทำเรื่องต่างๆนานา แม้ท้าวภูวดลและพระปิ่นทองจะพยายามหาทางกำจัดนางด้วยการให้ไปเอาเขาพระสุเมรุมา นางก็นำมาได้ และยังได้พบฤษีช่วยถอดหน้าม้าให้กลายเป็นสาวสวย ซึ่งเนื้อเรื่องยังดำเนินไปอย่างสนุกสนานเต็มไปด้วยความเก่งกาจของนางแก้วหน้าม้าที่ได้ของวิเศษมาจากฤษี จนท้ายที่สุดก็ได้จบด้วยความสุข ซึ่งเมื่อเอ่ยถึงนางแก้วหน้าม้า มักจะหมายถึงหญิงที่มีนิสัยหรือกิริยาไม่เรียบร้อย กระโดกกระเดก ซึ่งบางทีก็เรียกว่า ม้าดีดกะโหลก